ข้อมูลทั่วไป

ประวัติการก่อตั้งโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์

พันตำรวจเอกพระขจัดทารุณกรรม (เงิน หนุนภักดี) ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และคณะกรรมการจังหวัดในขณะนั้นพิจารณาเห็นว่าจังหวัดอุบลราชธานีมีประชากรมากเป็นที่สองรองจากกรุงเทพมหานคร สุขศาลาที่มีอยู่เดิมมีสภาพชำรุดทรุดโทรมและตั้งอยู่ในบริเวณจำกัดไม่อาจขยายได้กว้างขวางต่อไปได้ ขณะนั้นมีการผ่าตัดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงได้จัดหาสถานที่และงบประมาณที่ใช้เป็นที่สร้างโรงพยาบาล หม่อมเจ้าชายอุปลีสาน ชุมพล ได้ประทานที่ดินที่ได้รับเป็นมรดกตกทอด “สวนโนนดง” ให้แก่ทางราชการโดยมีเงื่อนไขว่าต้องใช้ที่ดินแปลงนี้ที่ประทานให้เป็นที่ก่อสร้างโรงพยาบาลประจำจังหวัด เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระบิดาของพระองค์ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลอีสาน ในช่วงเวลานั้นพลเอกพระยาพหลยุพหเสนา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่จะให้สร้างโรงพยาบาลขึ้นในจังหวัดชายแดนที่ติดต่อกับประเทศลาว ได้แก่  จังหวัดหนองคาย นครพนม อุบลราชธานี เพื่อผลทางด้านยุทธศาสตร์และศักดิ์ศรีของประเทศ กระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติงบประมาณจากกระทรวงการคลังในการก่อสร้างโรงพยาบาล การก่อสร้างเริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2478 จังหวัดได้ประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2479 ในสมัยที่พระปทุมเทวาภิบาล (เยี่ยม เอกสิทธิ์) เป็นผผู้ว่าราชการจังหวัด และตั้งชื่อว่า”โรงพยาบาลอุบลราธานี”ภายหลังจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์”

ประวัติความเป็นมาของฝ่ายเวชกรรมสังคม

ฝ่ายเวชกรรมสังคมเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2522  ตั้งอยู่ที่  ชั้น 2  อาคาร 5 โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์   โดยมี   นายแพทย์ศุภชัย ฤกษ์งาม เป็นหัวหน้าฝ่ายเวชกรรมสังคมคนแรก ซึ่งในตอนนั้นฝ่ายเวชกรรมสังคมจะมีงานย่อยหลายงานอยู่รวมกันได้แก่ งานรักษาพยาบาลชุมชน งานส่งเสริมสุขภาพ งานสุขศึกษา งานสังคมสงเคราะห์ งานอาชีวอนามัย  มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 16 คนประกอบด้วย แพทย์ 1 คน  พยาบาลวิชาชีพ 6 คน นักวิชาการสาธารณสุข 1 คน เจ้าหน้าที่อื่นๆ  8 คน ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับโครงสร้างใหม่ งานสุขศึกษาจึงได้แยกตัวออกไป และในปี พ.ศ.2544 มีการปฏิรูประบบบริการสุขภาพ และเริ่มมีระบบบริการปฐมภูมิที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทำให้ ฝ่ายเวชกรรมสังคมมีบทบาทในการทำงานในชุมชนได้อย่างชัดเจน และในปีเดียวกันนี้ มี 2 งานได้แยกออกไปจากฝ่ายเวชกรรมสังคม งานสังคมสงเคราะห์แยกออกมาเป็นฝ่ายสวัสดิการสังคม งานอาชีวอนามัยได้แยกออกมา ตั้งเป็นกลุ่มงานอาชีวเวชกรรม และในปีนี้จึงได้มีการปรับเปลี่ยนจากฝ่ายเวชกรรมสังคมเป็นกลุ่มงานเวชกรรมสังคมซึ่งมีการทำงานชุมชนอย่างชัดเจน จึงได้แบ่งเจ้าหน้าที่ออกมาโดยมีเจ้าหน้าบางส่วนที่ปฏิบัติงานด้านระบาดวิทยาจะอยู่ในสำนักงานในโรงพยาบาลและจะมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในชุมชนและได้จัดตั้งเป็นศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านดู่ (ปทุมวิทยากร)เป็นแห่งแรกและต่อมาได้จัดตั้งเพิ่มขึ้นคือ ศูนย์สุขภาพชุมชน ท่าวังหิน ปทุมมาลัย        ชยางกูร วัดใต้ รวมเป็น 5 แห่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร ไม่ว่าจะเป็น คน สิ่งของและงบประมาณ ในการดำเนินงานในช่วงแรกๆของการปฏิรูป และสำนักงานได้ย้ายมาอยู่ที่ตึกผู้ป่วยนอก ชั้น2 โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์

ในปัจจุบันกลุ่มงานเวชกรรมสังคม ตั้งอยู่ที่อาคารผู้ป่วยนอก ชั้น4 มี  แพทย์หญิงสุมลมาลย์ แสนทวีสุข เป็นหัวหน้ากลุ่มงาน มีบุคลากรรวม 96 คน ประกอบด้วย แพทย์ 8 คน พยาบาลวิชาชีพ/เทคนิค 48/2 คน นักวิชาการสาธารณสุข 5 คน  ทันตาภิบาล 5 คน       เจ้าหน้าที่อื่น 28คน       

มีหน่วยบริการปฐมภูมิเครือข่ายของโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ 5 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ เขตเทศบาลนครอุบลราชธานี    อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี  รับผิดชอบประชากรทั้งสิ้น 85,046  คน 78 ชุมชน  17,756 หลังคาเรือน 

มีบทบาทหน้าที่ในการดำเนินประกอบด้วย งานส่งเสริมสุขภาพและฟื้นฟูสภาพ งานป้องกันควบคุมโรค และระบาดวิทยา  งานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชนงานพัฒนาระบบปฐมภูมิและสนันสนุนเครือข่าย งานคุ้มครองผู้บริโภค

จัดบริการด้านเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชนเชื่อมโยงการดำเนินงานและสร้างความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลกับภาคีเครือข่ายสุขภาพเพื่อให้หน่วยบริการปฐมภูมิมีระบบบริการที่ตอบสนองความต้องการและความจำเป็นด้านสุขภาพของประชาชน นำไปสู่การมีสุขภาพดีของชุมชน

 

ทำเนียบหัวหน้ากลุ่มงานเวชกรรมสังคม พ.ศ. 2522 – ปัจจุบัน

                1. นายแพทย์ศุภชัย  ฤกษ์งาม

                2. แพทย์หญิงสุกัญญา รุ่งธนาภิรมย์

                3. นายแพทย์สุรชัย  รุ่งธนาภิรมย์

                4. นายแพทย์วิจิตร  หวังประเสริฐกุล

                5. นายแพทย์ชัยพร  ทองประเสริฐ

                6. นายแพทย์ธีรพล  เจนวิทยา

                7. นายแพทย์จำลอง กิตติวรเวช

                8. นางสาวไพรัช  บุญจรัส

                9. นายแพทย์มหิธร  ทองเสี่ยน

                10.นายแพทย์กฤต  หาญชาญชัยกุล

                11.นายแพทย์อาคม  อารยาวิชานนท์

                12.นายแพทย์จรัญ  ทองทับ

                13.แพทย์หญิงอมรรัตน์ เทพากรณ์  

                14.นายแพทย์เด่นชัย ตั้งมโนกุล 

                15.แพทย์หญิงสุมลมาลย์ แสนทวีสุข หัวหน้ากลุ่มงานคนปัจจุบัน

(ข้อมูล:ได้จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เคยปฏิบัติงานที่กลุ่มงานเวชกรรมสังคมตั้งแต่ปีพ.ศ. 2523 ถึงปัจจุบัน)